เข้าสู่ระบบ
ไทย | English
สำหรับคณะกรรมการกองทุน
ข้อมูลทั่วไป
ภาษี
  • ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กำหนดว่า 

    1. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ทุพพลภาพ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์และอายุสมาชิกกองทุนครบ 5 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

    2. สมาชิกที่ลาออกจากงานก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่เมื่อออกจากงานแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • เงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพส่วนที่เป็นเงินสะสม (ส่วนที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน) ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี ส่วนที่เหลือทั้งหมดได้แก่ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ (ที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน) และผลประโยชน์เงินสมทบ ให้นำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี โดยเมื่อสมาชิกลาออกจากกองทุนก่อนเกษียณอายุ เงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้

         1. สมาชิกลาออกโดยมีระยะเวลาทำงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนไปรวมกับเงินได้ทั้งปี และคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวิธีและตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

         2. กรณีสมาชิกลาออกโดยมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป - สามารถเลือกเสียภาษีแบบแยกยื่นได้ โดยนำเงินที่ได้รับจากกองทุน หักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 7,000 บาท คูณจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักค่าใช้จ่ายได้อีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้น แล้วคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • ผู้มีเงินได้มีหน้าที่นำเงินได้ทุกประเภทมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย "เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน" เป็นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยแยกคำนวณต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่นก็ได้หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 48(5) 

    อย่างไรก็ดี การตีความว่าเงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนในกรณีลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานจะเข้าข่ายเป็น “เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน" ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ ขอให้สอบถามกรมสรรพากร

  •      กรณีที่ใบสรุป 50 ทวิ เป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ออกตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมเป็นเอกสารที่สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบเสียภาษีต่อกรมสรรพากรได้


         สำหรับใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งสมาชิกจะได้รับปีละ 2 ครั้ง จะเป็นการแสดงยอดเงินรายครึ่งปี ซึ่งปิด ณ วันที่ 30 มิ.ย.ของทุกปี และ ณ 31 ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งยอดปิด ณ 31 ธ.ค.ของทุกปีนั้น บริษัทจัดการจะรับรองยอดเงินนำส่งเข้ากองทุนทั้งปีเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบเสียภาษีต่อกรมสรรพากรได้

  • เนื้อหาคำตอบ :

    1. กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาตรา 23/2 กำหนดให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะเกษียณอายุแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวด และมาตรา 23/3 กำหนดว่าสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด (หมายถึงรวมเกษียณอายุด้วย) มีสิทธิคงเงินไว้ในกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ซึ่งข้อบังคับจะต้องกำหนดระยะเวลาคงเงินไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน 

    2. กฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 277) กำหนดว่าเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยเหตุเกษียณอายุ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร จะได้รับยกเว้นภาษี หมายถึงหลังจากเกษียณอายุแล้วและมีคุณสมบัติครบตามที่ประกาศอธิบดีฯ กำหนด ไม่ว่าจะคงเงิน รับเงินเป็นงวด หรือรับทั้งก้อน เงินนั้นก็ยกเว้นภาษี 

    3. เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเข้าเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 2 แล้ว ไม่ว่าสมาชิกจะมารับเงินในเวลาใด ก็เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีตลอดไป